วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552

"ขบวนการซื้อขายเด็กทารก"


วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 20:44:25 น.  มติชนออนไลน์

“ขบวนการซื้อขายเด็กทารก” 
 


 

โดย เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา

 ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีข่าวครึกโครมเกี่ยวกับการจับกุมขบวนการซื้อขายเด็กทารกที่จังหวัดสงขลา   โดยมีนายหน้าชาวไทยเป็นธุระในการจัดหาเหยื่อ และส่งต่อให้กับนายหน้าชาวมาเลเชีย    ผลของการจับกุมทำให้เห็นภาพของเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ในรูปแบบการซื้อขาย เด็กทารก  ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ


ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา จึงขอตีแผ่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากกรณีศึกษาที่มูลนิธิกระจกเงาเคยดำเนินการ ในเรื่องนี้


รับแจ้งเหตุการค้าเด็ก

 

ปลายปี พ.ศ. 2551   ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์   มูลนิธิกระจกเงา ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก   หญิงชราคนหนึ่งอ้างตัวว่าหลานสาวอายุ  1 ขวบ ถูกมารดา ซึ่งเป็นบุตรสาวของตนขายให้กับชาวมาเลย์ที่บริเวณชายแดนภาคใต้ของประเทศ ไทย                                                  

      

ทีมงานศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์    มูลนิธิกระจกเงา   ได้ลงพื้นที่บริเวณด่านนอก  อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งถูกกล่าวอ้างว่า มีการซื้อขายเด็กทารกกันที่นี่

      

จากการสอบปากคำ ยายและป้าของเด็ก  ทำให้ทราบข้อเท็จจริงว่า   มารดาของเด็กประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริการในร้านคาราโอกะแห่งหนึ่งบริเวณชาย แดนอำเภอสะเดา หรือที่เรียกกันในพื้นที่ว่า “ด่านนอก” สถานภาพครอบครัวของเด็กเป็นครอบครัวที่มีการหย่าร้าง  มารดาของเด็กจึงพาลูกมาอยู่ที่ด่านนอก  ตั้งแต่ยังเป็นทารก แต่ด้วยอาชีพของมารดาที่ต้องทำงานกลางคืนและพักผ่อน ตอนกลางวัน  จึงทำให้ มารดาไม่มีเวลาเลี้ยงลูก  จึงได้ว่าจ้างคนบริเวณใกล้เคียงร้านคาราโอเกะมาเลี้ยงลูก

       

 ด้วยพฤติกรรมของมารดาเด็กที่เป็นคนดื่ม เที่ยว และใช้สารเสพติด  เป็นเหตุให้ไม่มีเงินค่าจ้างจ่ายแก่ผู้รับเลี้ยงดูลูก  จึงต้องเปลี่ยนคนรับจ้างเลี้ยงลูกหลายคน   กระทั่งคนรับจ้างเลี้ยงเด็กคนสุดท้าย  แนะนำให้มารดาของเด็ก ขายเด็กเพื่อใช้หนี้ และอาจจะมีเงินเหลือเพื่อใช้จ่าย!!!!

      

คนรับเลี้ยงเด็ก เป็นธุระในการติดต่อคนรับซื้อเด็กทารก  ซึ่งเป็นชายชาวมาเลย์ กระทั่งมีการซื้อขายเด็กทารกผู้น่าสงสารรายนี้ ในราคาเพียง 20,000 บาท!!!


ตกเขียวในครรภ์มารดา

      

จากการลงพื้นของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์  มูลนิธิกระจกเงา  พบว่าในพื้นที่ “ด่านนอก”  มีสถานบันเทิงประเภทร้านคาราโอเกะ  ดิสโก้เธค  และนวดแผนโบราณอยู่อย่างหนาแน่น    ด้วยเหตุนี้เองจึงมีหญิงขายบริการจำนวนมากเป็นเงาตามตัว    ในขณะที่ข้อห้ามอย่างหนึ่งของหญิงขายบริการก็คือ “การห้ามตั้งท้อง”เพราะนั่นหมายถึงการไม่สามารถทำงานได้ และเป็นภาระในอนาคต 

   

ด้วยเหตุนี้เองหญิงขายบริการที่พลาดท่าตั้งครรภ์   จึงมีความคิดที่จะเอาเด็กออกหรือทำแท้ง จึงเป็นช่องว่างให้ขบวนการค้ามนุษย์เข้ามาเสนอขอซื้อเด็กทารก  โดยมีเงินจำนวนหมายหมื่นบาทเป็นตัวล่อ ให้หญิงตั้งครรภ์เก็บเด็กไว้จนคลอดเพื่อขาย

   

มีข้อมูลที่น่าสนใจในพื้นที่ด่านนอก ว่ามีร้านคาราโอเกะบางแห่ง เป็นนายหน้าในการติดต่อหญิงบริการที่ตั้งครรภ์  โดยการรับมาอยู่ในร้านจนกว่าจะคลอด หรือยินยอมให้พนักงานในร้านตั้งครรภ์ได้ ซึ่งผิดวิสัยของสถานบันเทิงทั่วไป  เพราะหญิงตั้งครรภ์ไม่สามารถทำงานบริการได้  โดยร้านคาราโอเกะดังกล่าวจะให้ที่พักแก่หญิงตั้งครรภ์ เพื่ออยู่จนกระทั่งคลอดลูก


ข้อมูลจากการสืบสวนของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา  พบว่ามีหญิงวัยกลางคนคนหนึ่ง   เปิดร้านคาราโอเกะบริเวณด่านนอกมาหลายปี        และมีพฤติกรรมน่าสงสัยในการเป็นนายหน้าหาเด็กเพื่อส่งให้เอเย่นต์ ชาวมาเลเซียอีกทอดหนึ่ง   โดยรับหญิงตั้งครรภ์เข้ามาอยู่ในร้าน และมีการเกลี้ยกล่อมให้หญิงตั้งครรภ์   เก็บลูกไว้เพื่อขาย  


แหล่งข่าวในพื้นที่ยังให้ข้อมูลกับศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้า มนุษย์ มูลนิธิกระจกเงาว่า  ร้านคาราโอเกะแห่งนี้จะมีนายหน้าชาวมาเลเชีย เชื้อสายจีนวัยกลางคน  เป็น   ผู้มารับซื้อเด็กทารก  โดยชายคนดังกล่าวจะข้ามฝั่งจากมาเลเชียมาดื่มกินที่ร้านคาราโอเกะแห่งนี้ เสมอ  และมักจะพูดคุยถึงเรื่องการรับซื้อเด็กทารกจากหญิงบริการที่ตั้งครรภ์  จนเป็นที่รู้กันในพื้นที่ใกล้เคียงว่าหากหญิงคนใดต้องการขายลูก ต้องมาติดต่อกับชายคนดังกล่าว

 

กลุ่มเสี่ยงในตลาดค้าเด็ก

      

เด็กที่เกิดจากมารดาที่เป็นหญิงขายบริการที่ด่านนอก   มีทางเลือกให้กับพวกเขาเพียงไม่กี่ทาง คือ  การถูกทำแท้ง หรือถูกขายให้กับขบวนการค้ามนุษย์  เพราะด้วยเงื่อนไขทางด้านอาชีพทำให้หญิงขายบริการไม่ควรตั้งครรภ์ และด้วยความที่การตั้งครรภ์ไม่ได้เกิดจากสถานะความเป็นครอบครัว ทำให้เด็กที่เกิดมา อาจจะกลายเป็นลูกไม่มีพ่อ    มารดาของเด็กจึงไม่อาจจะรับภาระในการเลี้ยงดูบุตรโดยลำพังได้


นอกจากนี้หญิงบริการส่วนหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ จะเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตอิสระกิน เที่ยว และอาจใช้สารเสพติด ตลอดจนมีพฤติกรรมใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  จึงทำให้เป็นกลุ่มเสี่ยงในการถูกชักจูง และหว่านล้อมให้ขายบุตรของตนเอง  
 
นอก จากนี้บริเวณด่านนอก หญิงขายบริการส่วนใหญ่เป็นหญิงที่เดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้านโดยการหลบหนี เข้าเมือง  ดังนั้นการให้กำเนิดบุตรในประเทศไทย เป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควร    หญิงขายบริการจึงตกเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดในการถูกเสนอซื้อขายเด็กทารก

 

จำนวนเงินตั้งแต่ 20,000-80,000 บาท เป็นราคาค่าตัวเด็กที่จะถูกซื้อข้ามแดนนำไปยังฝั่งประเทศมาเลเซีย   จำนวนเงินอาจจะไม่สูงมากเมื่อเทียบกับชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง  แต่เงินจำนวนนี้ก็มากพอที่จะจูงใจให้แม่หลายราย ที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์  ยินยอมที่จะรับเงินดังกล่าว และมอบชีวิตของลูกน้อยให้กับขบวนการค้ามนุษย์ไป


ปลายทางของเด็ก


ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการอุ้มเด็กทารกที่มิใช่บุตรหลานของตัวเอง  สามารถผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของทั้งสองประเทศได้อย่างไร  เพราะด่านตรวจคนเข้าเมืองยืนยันว่าต้องตรวจเอกสารของเด็กที่พาผ่านด่านว่ามี ความสัมพันธ์กับคนที่พาเด็กหรือผู้ติดตามมาด้วยหรือไม่

 

ปลายทางของเด็ก เป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่าเด็กทารก หรือเด็กที่ยังอายุน้อยๆ จะสามารถนำไปแสวงหาผลประโยชน์อะไรได้บ้าง เนื่องยังไม่มีการจับกุมขบวนการเหล่านี้จนถึงปลายทาง  ข้อสันนิษฐาน จึงอาจเป็นไปได้ว่า  เด็กทารกอาจถูกนำไปเป็นเครื่องมือในการขอทาน หรือ ซื้อไปเพื่อเลี้ยงเป็นลูกสำหรับผู้มีลูกยาก

 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากผู้ใหญ่ในวงการสิทธิเด็กท่านหนึ่ง ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ในประเทศมาเลเชียจะมีกฎหมายมรดก หากเจ้ามรดกไม่มีทายาททรัพย์สมบัติจะตกเป็นของแผ่นดิน  ดังนั้นจึงมีการซื้อเด็กทารกเพื่อแจ้งเกิดเป็นบุตรของตนเอง นอกจากนี้ยังมี ข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ การซื้อเด็กไปเพื่อเลี้ยงไว้ใช้งานในบ้าน ซึ่งการลงทุนดังกล่าว จะถูกกว่าการจ้างคนมาทำงาน เพราะไม่ต้องจ่ายเงินเดือน มีเพียงอาหารให้กินเท่านั้น

 

ข้อเท็จจริง ดังกล่าว  ควรเป็นเรื่องที่รัฐบาลของทั้งสองประเทศ ต้องร่วมกันหาคำตอบว่า มีการนำเข้าเด็กทารกจากประเทศไทยไปยังประเทศมาเลเชีย พื่อการใด ???


 ปัญหาเรื่องการซื้อขายเด็กทารกตามแนวชายแดน โดยเฉพาะทางภาคใต้ของประเทศไทยไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นใหม่   แต่เนื่องจากคนในครอบครัวของเด็ก เป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด   ปัญหาดังกล่าวจึงถูกหมักหมม อยู่ตามแนวชายแดน  

 

เมื่อปัญหาดังกล่าวนี้ ถูกหยิบยกขึ้นมาในสังคม  ก็คงถึงเวลาต้องสะสางปัญหานี้เสียที ในฐานะของปัญหาการค้ามนุษย์ข้ามชาติ


-- http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1251121635&grpid=no&catid=02
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.parent-youth.net
http://itceoclub.ning.com
http://www.presscouncil.or.th
http://ilaw.or.th
http://www.thaihof.org
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://elibrary.nfe.go.th
http://www.logex.kmutt.ac.th
http://www.thaisara.com
http://www.rmutr.ac.th
http://icann-ncuc.ning.com
http://www.webmaster.or.th
http://weblogcamp2009.blogspot.com
http://pwdhutch3.blogspot.com
http://energygreenhealth.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น